ห้องสมุดประชาชนอำเภอบ้านนา
ตั้งอยู่ในบริเวณที่ว่าการอำเภอบ้านนา
ตำบลบ้านนา อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก ๒๖๑๑๐
โทรศัพท์ ๐-๓๗๓๘-๑๖9๑
วิสัยทัศน์
ห้องสมุดประชาชนอำเภอบ้านนา เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตที่มีคุณภาพและมาตรฐาน
เวลาทำการ
วันอาทิตย์ - วันศุกร์
เวลา 08.30 น. - 16.30 น.
วันหยุด
วันเสาร์ และ วันหยุดนักขัตฤกษ์
การสมัครสมาชิก
สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน 1 ใบ
รูปถ่าย หน้าตรงขนาด 1 นิ้ว 1 รูป
สมัครสมาชิก......ฟรี
ประวัติห้องสมุดประชาชนอำเภอบ้านนา
ห้องสมุดประชาชนอำเภอบ้านนา เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2497 เป็นอาคารไม้เล็กๆชั้นเดียวตั้งอยู่ริมท่าน้ำคลองบ้านนา โดยมีครูช่วยราชการทำหน้าที่เป็นบรรณารักษ์ ต่อมาอาคารดังกล่าวได้ทรุดโทรมลงห้องสมุด จึงได้ย้ายไปอยู่ที่ชั้นล่างของอาคารที่ว่าการอำเภอ
บ้านนาหลังเก่า
ปี พ.ศ.2518 ได้ย้ายห้องสมุดประชาชนอำเภอบ้านนาจากที่ว่าการอำเภอบ้านนาหลังเก่าไปอยู่ที่ชั้นล่างของโรงพยาบาลบ้านนา
ปี พ.ศ. 2532 ได้รับงบประมาณจากกรมการศึกษานอกโรงเรียน จำนวน 500,000 บาท งบพัฒนาจังหวัด ( โดยศาสตราจารย์เดช- บุญหลง ) จำนวน 100,000 บาท และได้จากทอดผ้าป่าสามัคคี จำนวน 200,000 บาท รวมเป็นเงินในการจัดสร้างทั้งสิ้น 800,000 บาท และได้ทำการก่อสร้างห้องสมุดประชาชนอำเภอบ้านนาหลังใหม่ ในบริเวณที่ว่าการอำเภอบ้านนาหลังใหม่ ณ ปัจจุบันนี้
การก่อสร้างห้องสมุดประชาชนอำเภอบ้านนาครั้งนี้ล้วนเกิดจากการรวมน้ำใจจากประชาชนชาวอำเภอบ้านนาตลอดจนหน่วยงานราชการต่างๆ ที่ให้การสนับสนุนและความอนุเคราะห์ในการก่อสร้างห้องสมุดประชาชนอำเภอบ้านนาในครั้งนี้
คำขวัญอำเภอบ้านนา
หลวงพ่อเกิดพระขลัง มั่งคั่งการค้า
ระบำบ้านนาคู่เมือง ลือเลื่องงานสงกรานต์
ถิ่นฐานเกษตรกรรม งามเลิศล้ำน้ำตกกะอาง
อำเภอบ้านนาในอดีต
อำเภอบ้านนา นามนี้เพิ่งตั้งขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ.2446 สมัยนายจิตร เป็นนายอำเภอ อยู่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ( รัชกาลที่ 5 ) หากนับกาลเวลาตั้งแต่ย้ายมาจากที่ตั้งอำเภอเดิม คือ “อำเภอท่าช้าง” ซึ่งปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ หมู่ที่ 5 ต.บางอ้อ อ.บ้านนา ก็นับได้เป็นเวลา 80 ปีเศษ (2446-2528) ในอดีตอำเภอท่าช้างตั้งอยู่ริมฝั่งขวาของแม่น้ำนครนายกประมาณ 20 เมตร ปัจจุบันประชาชนได้เข้าไปอยู่อาศัยและทำสวนไร่นา
ภายหลังจากมีการปฏิรูปการปกครอง อำเภอท่าช้างจึงย้ายจากที่เดิมมาสร้างขึ้นใหม่ที่บริเวณฝั่งคลองบ้านนา แล้วให้นามอำเภอว่าอำเภอบ้านนาสืบมาแต่ปี พ.ศ. 2446 มีนายจิตรเป็นนายอำเภอคนแรก และในสมัยของ พระพิบูลย์สงคราม(จอน) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก (พ.ศ.2445-2449) ซึ่งอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 5 (พ.ศ.2411-2453) เช่นเดียวกัน
คำว่า “บ้านนา” นามนี้ พอย้ายที่ตั้งที่ว่าการอำเภอมาอยู่ที่ใหม่ครั้งแรก ก็เนื่องมาจากบริเวณนี้ เป็นพื้นที่ราบลุ่มกึ่งคมนาคมและใกล้คลองบ้านนา สามารถที่จะเดินทางไปติดต่อเมืองนครนายกทางเรือได้สะดวกและนามนี้เคยมีปรากฏในนามตำบลเก่าแก่แต่โบราณกาล สมัยกรุงศรีอยุธยามาแล้วว่า “ตำบลนาเริ่ง”แขวงเมืองนครนายก
มูลเหตุการณ์ย้ายที่ตั้งที่ว่าการอำเภอ เนื่องจากสภาพื้นที่เปลี่ยนแปลงไป บ้านเมืองขยับขยายโยกย้ายถ่ายเทผู้คนอพยพไปแสวงหาพื้นที่ราบเพื่อบุกป่าฝ่าดงทำไร่ทำนา สถานที่เดิมมีอุปสรรคในการคมนาคมการติดต่อข้าราชการ ไม่เป็นจุดศูนย์กลางเหมือนสมัยเก่า
“บ้านนา” ตั้งเป็นชื่ออำเภอครั้งแรกเมื่อ วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2446 สมัยนายจิตร เป็นนายอำเภอคนแรก สำหรับชื่อนายอำเภอก่อนหน้านี้เมื่อสมัยอำเภอตั้งอยู่บางอ้อจะมีผู้ใดบ้างไม่มีใครทราบหรือบันทึกเอาไว้ เพราะสมัยก่อนโน้นตำแหน่งนายอำเภอมาจากการคัดเลือกตัวบุคคลจากคนในพื้นที่ในท้องถิ่นเป็นสำคัญ
ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 5 สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย จึงได้มีการวางแผนหรือแนวทางในการคัดเลือกตัวบุคคลออกไปเป็นเจ้าเมืองและนายอำเภอเสียใหม่
|