[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
 

  

บทความสุขภาพ
เตือนผู้สูงอายุรับมือภัยหนาว เหตุระบบประสาทรับรู้เสื่อม

พุธ ที่ 11 เดือน ธันวาคม พ.ศ.2556

คะแนน vote : 81  

เตือนผู้สูงอายุรับมือภัยหนาว เหตุระบบประสาทรับรู้เสื่อม

กระทรวงสาธารณสุข เตือนผู้สูงอายุระบบประสาทรับรู้อากาศเย็นเสื่อมลง การตอบสนองแย่ลงจนอุณหภูมิร่างกายต่ำผิดปกติ เพิ่มโอกาสการเสียชีวิต แนะประชาชนและนักท่องเที่ยวดูแลสุขภาพ

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสภาพอากาศหนาวเย็น ประชาชนมีความเสี่ยงเจ็บป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ และปอดบวมได้ง่าย เนื่องจากเชื้อไวรัสเจริญเติบโตได้ดี ที่น่าห่วงคือกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งขณะนี้ทั่วประเทศมีประมาณ 9 ล้านคน และส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 50 มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ซึ่งสภาพอากาศที่หนาวเย็นจะเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้สูงอายุ จึงขอให้หลีกเลี่ยงการโต้ลมหนาว ควรดูแลความอบอุ่นร่างกายเป็นกรณีพิเศษ สวมเสื้อผ้าที่มีความหนาหรือเครื่องกันหนาวอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะเวลากลางคืน

"ระบบประสาทรับรู้ความหนาวเย็นที่ผิวหนังของผู้สูงอายุจะมีความไวลดลง ทำให้ไม่สามารถตอบสนองต่อความเย็นของอากาศรอบตัวด้วยการหนาวสั่นหรือการหดตัวของกล้ามเนื้อ เพื่อให้เกิดความอบอุ่นในร่างกายได้ดีเหมือนในคนวัยหนุ่มสาว รวมทั้งระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมหลอดเลือดที่ผิวหนังเพื่อไม่ให้ความร้อนสูญเสียออกจากร่างกาย ก็เสื่อมลงตามอายุขัย ดังนั้นหากปล่อยให้อุณหภูมิของร่างกายลดลงมากผิดปกติ จะมีผลทำให้เลือดมีสภาพหนืดข้นและเส้นเลือดหดตัวส่งผลให้การไหลเวียนเลือดในร่างกายไม่ดี หัวใจต้องทำงานเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายหนักขึ้น อาจทำให้ผู้สูงอายุเสียชีวิตได้" โฆษก สธ. กล่าว

พญ.พรรณพิมล กล่าวอีกว่า การรักษาความอบอุ่นให้ร่างกาย บุตรหลานควรดูแลให้ผู้สูงอายุสวมเสื้อผ้าหนาๆ หรือเครื่องกันหนาว เพื่อสร้างความอบอุ่นร่างกายอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะบริเวณที่สำคัญ 3 ส่วน ได้แก่ 1.หน้าอกซึ่งมีหัวใจทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย 2.ลำคอในที่ที่หนาวมากควรใช้พันผ้าพันคอ และ3.ที่ศีรษะ ควรสวมหมวกเพื่อลดการถ่ายเทความร้อนออกจากร่างกาย ส่วนของประชาชนทั่วไป ขอให้รักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างเพียงพอและครบหมู่ เพิ่มอาหารประเภทแป้งและไขมันเพื่อให้พลังงานแก่ร่างกาย ยกเว้นผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ ควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ ดื่มน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดาบ่อยๆ อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว ออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละประมาณ 30 นาที และพักผ่อนให้เพียงพอ

ด้าน นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ส่วนประชาชนที่เดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดต่างๆ ที่มีอากาศหนาวเย็น โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต้องเตรียมความพร้อมเรื่องสุขภาพ หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัด และไม่ควรใช้ของร่วมกัน หากเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ควรมีผ้าปิดปากและจมูกเวลาไอ จาม และไม่คลุกคลีกับผู้อื่น ที่สำคัญควรล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ธรรมดานาน 15-20 วินาที เพื่อป้องกันการสัมผัสกับเชื้อโรคที่อยู่ตามสถานที่ต่างๆ เช่น ราวบันได ลูกบิด ประตู แก้วน้ำ ทั้งนี้ ในระหว่างการท่องเที่ยวควรดูแลร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ หากอากาศหนาวมากควรสวมเสื้อผ้าหนาๆ สวมถุงมือ ถุงเท้า และสวมหมวก หลังอาบน้ำควรทาโลชั่นหรือครีมบำรุงผิว กรณีที่มีปัญหาริมฝีปากแตกควรทาด้วยลิปบาล์มและไม่ควรเลียริมฝีปากบ่อยๆ สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวต้องนำยาไปเพื่อรับประทานตามที่แพทย์สั่งด้วย

นพ.สุพรรณ กล่าวอีกว่า สำหรับการดื่มสุราแก้หนาวเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากการดื่มสุราระยะแรกจะทำให้ร่างกายร้อนวูบวาบซึ่งเกิดจากการที่หลอดเลือดฝอยใต้ผิวหนังขยายตัว ความร้อนจะถูกระบายออกจากร่างกายมากขึ้นโดยไม่รู้ตัวทำให้อุณหภูมิของร่างกายลดลง หากดื่มสุราในปริมาณมาก ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะกดประสาทส่วนกลางทำให้มีอาการเมา อาจหลับโดยไม่รู้สึกตัว และถ้ามีเครื่องนุ่งห่มให้ความอบอุ่นไม่เพียงพอ ร่างกายตากอากาศเย็นเป็นเวลานานอาจเสียชีวิตได้เช่นกัน

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ



เข้าชม : 318


บทความสุขภาพ 5 อันดับล่าสุด

      ห่วงคนไทยเสริมสวย เครื่องมือช่วยปรับหน้า ไม่มีวิจัยชัดเจน 14 / ม.ค. / 2557
      ราชบุรีเตือนโรคมือเท้าปากในเด็ก 14 / ม.ค. / 2557
      กรมการแพทย์แนะวิธีเลือก “ขนม” สำหรับเด็ก 14 / ม.ค. / 2557
      เสียงดัง กับ สุขภาพหู 8 / ม.ค. / 2557
      หน้าหนาว เลี่ยงสถานที่แออัดเสี่ยงต่อโรค 28 / ธ.ค. / 2556


 
ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอองครักษ์
ถนนหน้าอำเภอ ตำบลองครักษ์  อำเภอองครักษ์  จังหวัดนครนายก โทรศัพท์ 0-3739-1895  โทรสาร 0-3739-1878  

ksnongkharak_ny@hotmail.com
Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.04    Webmaster