[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
 

  

บทความทั่วไป
เตือน\'ค่านิยมชอบผิวขาว\'เสี่ยงกระดูกเปราะ

พฤหัสบดี ที่ 19 เดือน ธันวาคม พ.ศ.2556

คะแนน vote : 86  

เตือน''ค่านิยมชอบผิวขาว''เสี่ยงกระดูกเปราะ

เตือนค่านิยมชอบผิวขาว ทำหญิงไทยเสี่ยงกระดูกเปราะ เหตุค่าวิตามินดีสะสมต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

นางถนอมวงศ์ กฤษณ์เพ็ชร์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยงานวิจัยซึ่งระบุว่า พบผู้หญิงไทยอายุเฉลี่ย 25-40 ปี มีค่าเฉลี่ยวิตามินดีในเลือดต่ำกว่าค่ามาตรฐานเฉลี่ยอยู่ที่ 20 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร ซึ่งน้อยกว่าค่ามาตรฐาน คือต้องมากกว่า 30 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร

ทั้งนี้ สาเหตุเกิดจากค่านิยมที่อยากมีผิวขาว โดยมีพฤติกรรมหลบเลี่ยงแสงแดดหรือกิจกรรมกลางแจ้ง ทั้งจากการใช้ครีมกันแดด สวมเสื้อผ้าหรืออุปกรณ์ป้องกันแสงแดด และการหลบเลี่ยงอยู่เฉพาะแต่ในห้องที่มีแสงแดดส่องไม่ถึง จนผิวหนังไม่ได้สัมผัสกับแสงแดดเลย

นางถนอมวงศ์ กล่าวว่า พฤติกรรมดังกล่าวส่งผลให้แสงแดดที่มีคุณสมบัติในการสร้างวิตามินดีให้กับร่างกาย ซึ่งเป็นวิตามินที่ส่งเสริมให้มีการดูดซึมแคลเซียมในลำไส้เข้าสู่กระแสเลือดและช่วยยับยั้งการหลั่งพาราไทรอยด์ฮอร์โมน ที่เป็นฮอร์โมนอันตรายที่จะไปสลายแคลเซียมออกจากกระดูก อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคเกี่ยวกับกระดูก เกิดโรคกระดูกพรุน และทำให้คอกระดูกต้นขาเปราะและหักง่ายเมื่อผู้หญิงมีอายุเข้าสู่ช่วงสูงวัย

“ช่วงเวลาที่จะได้รับวิตามินดีคือช่วงเช้าและช่วงเย็น หรือช่วงที่แดดไม่แรงเกินไปจนได้รับอันตรายจากรังสีอัลตราไวโอเลต ที่ทำลายเซลล์ผิวหนัง นอกจากนี้การรับวิตามินดีสามารถทำได้จากการออกกำลังกายในที่โล่งแจ้ง ใต้ร่มไม้ โดยไม่จำเป็นต้องอยู่กลางแดด”นางถนอมวงศ์ กล่าว

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ความชอบที่จะเห็นตัวเองมีผิวขาวของผู้หญิง หากมีปัญหาเรื่องสุขภาพจิตร่วมด้วย ก็จะมีปัญหาเรื่องการมองเห็นคุณค่าของตัวเองในด้านอื่นๆ ที่มี คนกลุ่มนี้จะสมมติเอาสิ่งฉาบฉวยภายนอกที่คนอื่นกำลังเห่อหรือชี้นำให้เห่อ เช่นที่เกิดขึ้นกับความสวย ความขาว จนขาดความเชื่อมั่นในคุณค่าของตัวเอง และเสี่ยงต่อภาวะตึงเครียด รวมถึงกลายเป็นรู้สึกว่ามีปมด้อยที่ไม่ได้มีผิวขาว

นอกจากนี้ ผู้ที่อยากมีผิวขาวที่น่ากังวลอีกกลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่มที่ป่วยเป็นโรคดิสมอร์เฟีย ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้มีอาการคิดว่าตัวเองมีรูปร่างหรืออวัยวะผิดปกติ ไม่สวยงาม มีความคิดหมกมุ่นหรือไม่พอใจในรูปร่างหรือรูปลักษณ์ของตัวเอง ทั้งที่จริงแล้วก็ดูปกติดีแต่ก็กังวลจนเชื่อว่าตัวเองผิดปกติ รวมถึงการไม่พอใจในสภาพผิวของตัวเอง

“คนกลุ่มนี้กลายเป็นคนไข้ของหมอหรือคลินิกผิวหนังเรื่อยไปไม่รู้จบ และเป็นสิ่งเดียวที่ผู้ป่วยหมกมุ่น คนกลุ่มนี้ต้องมีการรักษา ก่อนจะมีอาการโรคซึมเศร้าแทรกซ้อนในที่สุด” พญ.อัมพร กล่าว

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์



เข้าชม : 373


บทความทั่วไป 5 อันดับล่าสุด

      ระวัง! ยาทาให้ผิวขาว อันตราย-ขาลาย 14 / ม.ค. / 2557
      เตือนขับรถ เสี่ยงมะเร็งผิวหนัง 14 / ม.ค. / 2557
      อดนอนทั้งคืน ทำสมองเสียหาย 8 / ม.ค. / 2557
      วิธีง่ายๆ ที่ทำให้ ชีวิตมีความสุข 8 / ม.ค. / 2557
      ร่างกาย-รถ-อุปกรณ์พร้อม...เพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง 28 / ธ.ค. / 2556


 
ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอองครักษ์
ถนนหน้าอำเภอ ตำบลองครักษ์  อำเภอองครักษ์  จังหวัดนครนายก โทรศัพท์ 0-3739-1895  โทรสาร 0-3739-1878  

ksnongkharak_ny@hotmail.com
Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.04    Webmaster