[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
 

  

ความรู้เกี่ยวกับ IT
เทคโนโลยีซินโดรม ภัยสุขภาพคุกคามคนติดหน้าจอ

อังคาร ที่ 10 เดือน กันยายน พ.ศ.2556

คะแนน vote : 84  

 เทคโนโลยีซินโดรม โรคในกลุ่มออฟฟิศซินโดรมที่กำลังคุกคามชาวไซเบอร์ยุคใหม่ ผู้ชื่นชอบการเสพติดเทคโนโลยี ว่าแต่...คุณเองก็กำลังป่วยด้วยหรือเปล่านะ?

          สมัยนี้กลายเป็นยุคที่คนใช้ "ดวงตา" จ้องหน้าจอ ใช้ "มือ" ถือแท็บเล็ต และใช้ "นิ้ว" จิ้มและลากสมาร์ทโฟน มองไปทางไหนก็เห็นแต่คนก้มทำพฤติกรรมแบบนี้ไปหมด ไม่ว่าจะกำลังนั่งรอรถเมล์ กำลังนั่งทานอาหาร ขับรถ เดินอยู่ข้างถนน เลยไม่แปลกใจที่เราจะได้ยินคนใกล้ตัว หรือแม้แต่ตัวเองบ่นว่า รู้สึกเคืองตา ปวดตา เจ็บมือ เจ็บนิ้วอยู่บ่อย ๆ อาการเหล่านี้เป็นภัยสุขภาพแบบใหม่ที่เรียกว่า "เทคโนโลยีซินโดรม" และกำลังคุกคามชาวไซเบอร์อยู่อย่างเงียบ ๆ

          โดย นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์ประจำโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันคนหันมาใช้เทคโนโลยีกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเล่นเกม เล่นคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน แต่กลับใช้งานต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน จนทำให้เกิดโรคในกลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรม หรือที่วงการแพทย์เรียกว่า เทคโนโลยีซินโดรม (Technology Syndrome)




 

          น่าตกใจไม่น้อยที่ในช่วงระยะหลังมานี้มีผู้ป่วยตั้งแต่เด็กเล็กยันผู้สูงอายุ เข้ารับการรักษาด้วยโรคเทคโนโลยีซินโดรมจำนวนมาก และยังมีผู้ป่วยอีกมากที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองป่วยด้วยอาการดังกล่าว ดังนั้น นพ.ฐาปนวงศ์ จึงแนะนำวิธีการสังเกตอาการของโรคเทคโนโลยีซินโดรม เพื่อให้ตรวจสอบกันว่า ตัวคุณ หรือคนข้าง ๆ เข้าข่ายด้วยหรือไม่ ซึ่งจะมี 3 อาการหลัก ๆ คือ

1. ดวงตามีปัญหา

          ไม่ว่าจะเป็นอาการเจ็บตา ดวงตาล้า ต่ช้ำ ตาแดง แสบตา ก็สามารถเกิดขึ้นได้ หากใช้คอมพิวเตอร์ หรือจ้องจอนานเกิน 25 นาทีขึ้นไป รวมทั้งการวางหน้าจอคอมพิวเตอร์ไม่ได้ระดับที่เหมาะสมกับสายตา หรือปรับความสว่างหน้าจอไม่เหมาะสม หากดวงตาตรึงอยู่กับหน้าจอแบบนี้เป็นเวลานาน จะเกิดอาการเกร็ง มีผลกระทบต่อระบบของการกรอกตา และยังทำให้ระบบกล้ามเนื้อและประสาทผิดปกติด้วย

2. มีอาการทางกล้ามเนื้อกระดูก

          ถ้าใครเป็นคนที่ต้องนั่งทำงานนาน ๆ แล้วยังนั่งไม่ถูกท่า ต้องก้ม ๆ เงย ๆ อยู่ทุกวัน สุดท้ายแล้วอาการปวดคอ ปวดบ่า ปวดหลัง ปวดเอว ปวดนิ้วมือ ตามมาอย่างแน่นอน

3. เสพติดเทคโนโลยี

          ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ลองไม่ได้หยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาเช็กเฟซบุ๊กสัก 10 นาที ก็รู้สึกกระวนกระวายแล้ว หรือโพสต์ภาพไปเมื่อกี้ก็ว้าวุ่นใจอยากรู้ว่าจะมีใครมากดไลค์หรือยังนะ หรือแม้เพียงเข้าอินเทอร์เน็ตไม่ได้เพียงแค่ไม่กี่นาทีก็รู้สึกหงุดหงิดสุด ๆ จนกลายเป็นความเครียด แบบนี้เข้าข่ายเป็นคนติดเทคโนโลยีแล้ว เพราะไม่สามารถควบคุมตัวเองให้อยู่ห่างจากโลกไซเบอร์ได้เลย




          แล้วจะรักษาโรคเทคโนโลยีซินโดรมได้อย่างไรล่ะ?...เรื่องนี้ นพ.ฐาปนวงศ์ บอกว่า ที่ไต้หวันเคยวิจัยพบว่า "การนอน" คือวิธีการรักษาโรคเทคโนโลยีซินโดรมได้ดีที่สุด เพราะจะทำให้เราไม่หมกมุ่นกับสิ่งเหล่านี้มากเกินไป ดังนั้น จึงควรนอนไม่ต่ำกว่าวันละ 7 ชั่วโมง นอกจากนี้ ยังอาจใช้การ "ประคบเย็น" ช่วยให้ผ่อนคลายได้

          วิธีการประคบเย็นก็คือ นำผ้าไปแช่ในตู้เย็น หรือชุบในน้ำเย็น วางทาบบนศีรษะจากขมับซ้ายมาขมับขวา โดยไม่ต้องกด ขยี้ หรือคลึง แล้วทาบผ้าทับหน้าผาก ตา และจมูก วางจนกว่าผ้าจะหมด จากนั้น ให้นำผ้ามาชุบน้ำเย็นต่อ ทำติดต่อกันประมาณ 20 นาที วันละ 2 ครั้ง จะช่วยให้อาการดีขึ้น และวิธีนี้ไม่ว่าใครก็สามารถทำได้ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์บ่อย ๆ

          ส่วนใครที่มีอาการติดเทคโนโลยีแบบว่าอยู่ห่างแทบไม่ได้เลย คุณหมอ ก็แนะนำให้หากิจกรรมอื่นทำบ้าง เช่น อ่านหนังสือ ออกไปเที่ยว ไปออกกำลังกาย อย่าเอาแต่จ้องหน้าจออย่างเดียว และถ้าไม่อยากปวดตาก็พยายามพักสายตาประมาณ 1-5 นาที หลังจากเล่นคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟนทุก ๆ 25-30 นาที เพื่อให้สายตาไม่อ่อนล้าจนเกินไป

          โรคที่เกิดจากการทำพฤติกรรมซ้ำ ๆ เดิม ๆ แบบนี้ บทจะป่วยก็มาเร็วติดจรวดอย่างที่คาดไม่ถึงเลยล่ะ เอาเป็นว่าใครที่เริ่มเข้าข่ายจะเป็นเหยื่อของโรคเทคโนโลยีซินโดรม ก็พยายามลดละการใช้เทคโนโลยีลงหน่อยดีกว่านะ เลิกจ้องหน้าจอชั่วครู่ แล้วไปหากิจกรรมสนุก ๆ ทำบ้างดีกว่าเนอะ


 

 



เข้าชม : 428


ความรู้เกี่ยวกับ IT 5 อันดับล่าสุด

      อย่าใช้ Tablet ก่อนนอน 3 / ธ.ค. / 2556
      ลดความเสี่ยงเบาหวาน ง่ายนิดเดียว 22 / ต.ค. / 2556
      ฟักทอง เต็มเปี่ยมด้วยประโยชน์ 14 / ก.ย. / 2556
      เทคโนโลยีซินโดรม ภัยสุขภาพคุกคามคนติดหน้าจอ 10 / ก.ย. / 2556
      นิสัยเสียที่ต้องเลี่ยงจากการใช้คอมพ์ 1 / ก.ย. / 2556


 
ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอองครักษ์
ถนนหน้าอำเภอ ตำบลองครักษ์  อำเภอองครักษ์  จังหวัดนครนายก โทรศัพท์ 0-3739-1895  โทรสาร 0-3739-1878  

ksnongkharak_ny@hotmail.com
Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.04    Webmaster