[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
 

  

บทความสุขภาพ
เตือน‘โรคปอดบวม’ หากมีไข้เกิน 3 วัน ไอ หอบ ต้องพบแพทย์

เสาร์ ที่ 28 เดือน ธันวาคม พ.ศ.2556

คะแนน vote : 84  

เตือน‘โรคปอดบวม’ หากมีไข้เกิน 3 วัน ไอ หอบ ต้องพบแพทย์

กระทรวงสาธารณสุข เตือนภัยโรคปอดบวมช่วงหน้าหนาว เผยรอบ 11 เดือนปีนี้ ทั่วประเทศพบผู้ป่วยแล้ว 175,221ราย เสียชีวิต 991 ราย พบมากในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี รองลงมาคือกลุ่มอายุ 55 ปีขึ้นไป

นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้อากาศหนาวเย็น ประชาชนอาจป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจมากขึ้น โดยเฉพาะไข้หวัดและปอดบวม ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส เชื้อชนิดนี้จะเจริญเติบโตได้ดีในช่วงที่อากาศหนาวเย็น จากรายงานของสำนักระบาดวิทยา ในปี 2556 นี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 14 ธันวาคม พบผู้ป่วยโรคปอดบวมแล้ว 175,221 ราย กลุ่มที่พบว่าป่วยสูงที่สุดคือเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จำนวน 69,731 ราย คิดเป็นร้อยละ 40 ของผู้ผู้ป่วยทั้งหมด รองลงมาพบในกลุ่มอายุ 55 ปีขึ้นไป จำนวน 49,330 ราย  โดยมีเสียชีวิต 991 ราย พบในจังหวัดภาคกลางมากที่สุด 648 ราย รองลงมาคือภาคใต้ 241 ราย ภาคเหนือ 102 ราย

โรคปอดบวมที่พบขณะนี้ มักเกิดตามมาหลังจากป่วยเป็นไข้หวัด จากการติดตามสถานการณ์โรคทางเดินหายใจในช่วงหน้าหนาวในพื้นที่ภาคเหนือ เช่นที่รพ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ขณะนี้มีผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจเข้ารักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นกว่าช่วงปกติร้อยละ 15 และพบโรคปอดบวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 10  จึงขอแนะนำประชาชน หากป่วยเป็นไข้หวัดขอให้นอนพักผ่อนให้มากๆ และอาจกินยาลดไข้ประเภทพาราเซตามอล อาการจะดีขึ้นเรื่อยๆ แต่หากไข้สูงเกิน 3 วัน ไอมากและเจ็บหน้าอก น้ำมูกเปลี่ยนสีจากสีเหลืองอ่อนๆ เป็นสีเขียว ขอให้สงสัยว่าอาจมีโรคแทรกซ้อนที่ปอด  ต้องรีบพบแพทย์  ส่วนในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี หากป่วยเป็นไข้หวัด พ่อแม่ต้องสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ให้เด็กดื่มน้ำหรือนมบ่อยๆ นอนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย เช่นโจ๊ก  เช็ดตัวลดไข้ด้วยน้ำธรรมดาและให้กินยาลดไข้ประเภทพาราเซตามอล อาการจะค่อยๆ ดีขึ้น ไข้ลดลง และหายป่วยประมาณ 1 สัปดาห์  แต่หากยังไม่ดีขึ้นใน 3 วัน หรือเด็กมีอาการซึมลง ไม่กินน้ำกินนม หรือมีไข้สูง ไอ หายใจหอบเร็ว หรือหายใจมีเสียงฮืดหรือเสียงหวีด หายใจแรงจนชายโครงบุ๋ม ซึ่งเป็นสัญญาณของโรคปอดบวม ให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาตั้งแต่ระยะแรก อันตรายต่างๆจะน้อยลง

ในการป้องกันโรคปอดบวมในช่วงฤดูหนาว ขอให้ประชาชนออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างภูมิต้านทานโรค ให้กินร้อน ใช้ช้อนกลางและช้างมือบ่อยๆ เพื่อขจัดเชื้อโรคต่างๆที่ติดมากับมือ ผู้สูงอายุขอให้ใส่เสื้อกันหนาว หรือใส่เสื้อผ้าหลายๆชั้น ส่วนในเด็กเล็ก ขอให้ผู้ปกครองดูแลความอบอุ่น สวมเสื้อผ้าหนาๆ หรือเสื้อกันหนาว หลีกเลี่ยงพาเด็กเล็กเข้าไปในบริเวณที่มีคนแออัดหรือมีควันไฟในบ้าน ควันบุหรี่ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ ซึ่งทำให้มีโอกาสเป็นหวัดได้ง่าย ส่วนหญิงหลังคลอดขอแนะนำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ภูมิต้านทานจากแม่จะส่งผ่านไปให้ลูกทางน้ำนม เด็กจะไม่เจ็บป่วยง่าย เป็นการเพิ่มภูมิต้านทานโรคตามธรรมชาติให้เด็ก

ทั้งนี้โดยทั่วไป โรคไข้หวัดเป็นโรคติดต่อที่ไม่อันตราย  ติดต่อกันจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย โดยเชื้อจะแพร่กระจายมาจากน้ำมูก น้ำลาย เสมหะของผู้ป่วยโดยตรง หรือติดมากับสิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วย เริ่มแรกมักมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว มีไข้ต่ำๆ คัดจมูก ไอจาม ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย อาการมักหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ โดยหลังจากวันที่ 3 อาการควรจะเริ่มดีขึ้น ไข้ลดลง แต่อาจไอต่อไปได้อีก 1-2 สัปดาห์

 

ที่มา : สำนักสารนิเทศ กระทรวงสาธารณสุข



เข้าชม : 372


บทความสุขภาพ 5 อันดับล่าสุด

      ห่วงคนไทยเสริมสวย เครื่องมือช่วยปรับหน้า ไม่มีวิจัยชัดเจน 14 / ม.ค. / 2557
      ราชบุรีเตือนโรคมือเท้าปากในเด็ก 14 / ม.ค. / 2557
      กรมการแพทย์แนะวิธีเลือก “ขนม” สำหรับเด็ก 14 / ม.ค. / 2557
      เสียงดัง กับ สุขภาพหู 8 / ม.ค. / 2557
      หน้าหนาว เลี่ยงสถานที่แออัดเสี่ยงต่อโรค 28 / ธ.ค. / 2556


 
ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอองครักษ์
ถนนหน้าอำเภอ ตำบลองครักษ์  อำเภอองครักษ์  จังหวัดนครนายก โทรศัพท์ 0-3739-1895  โทรสาร 0-3739-1878  

ksnongkharak_ny@hotmail.com
Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.04    Webmaster