[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
 

  

บทความสุขภาพ
เสียงดัง กับ สุขภาพหู

พุธ ที่ 8 เดือน มกราคม พ.ศ.2557

คะแนน vote : 92  

 

เสียงดัง กับ สุขภาพหู

ช่วงเทศกาลปีใหม่นี้หลายท่านอาจจะได้มีโอกาสไปร่วมงานปาร์ตี้หรืองานเลี้ยงที่อาจจะเป็นพื้นที่ปิดและมีการใช้เสียงในระดับที่ค่อนข้างดังซึ่งทั้งหมดก็เพื่อความครื้นเครงสนุกสนาน

แต่ขณะเดียวกันช่วงเวลาที่ผ่านมาหลายคนอาจจะเป็นส่วนหนึ่งในการเข้าร่วมชุมนุมซึ่งนอกจากจะมีเสียงปราศรัยจากเครื่องขยายเสียงขนาดใหญ่แล้วยังมีเสียงนกหวีดที่ถูกเป่าขึ้นพร้อม ๆ กันรวมอยู่ด้วย หลายท่านอาจจะลืมคิดถึงเรื่องของเสียงดังที่ทุกคนจะต้องได้ยินไป

วันนี้จึงจะขอพูดถึงเรื่องเสียงที่มีผลกระทบต่อการได้ยินโดยทั่วไปสาเหตุที่ทำให้การได้ยินลดลงคืออายุที่มากขึ้น ระบบประสาทการได้ยินเสื่อมถอยลงไปตามสภาพอายุที่เราเรียกว่า ''หูตึง'' แต่ถ้าเราโดนเสียงที่มีความดังมากระทบเป็นประจำโดยเฉพาะเกิน 85 เดซิเบลเป็นระยะเวลานานจะเกิดการเสื่อมของหูก่อนวัยอันควรได้ (เสียงสนทนาพูดคุยทั่วไปจะอยู่ประมาณ 60 เดซิเบล)

ผลกระทบต่อสุขภาพจากมลภาวะทางเสียงอาจมีเล็กน้อย เช่น เกิดความรำคาญ นอนหลับไม่ดี หงุดหงิดอารมณ์แปรปรวน บางรายมีอาการมากขึ้น เช่น หูดับ หูอื้อ เสียการได้ยินชั่วคราว หากเป็นมากจะมีอาการหูตึงก่อนวัย ถ้าได้รับเสียงดังมากในเวลาอันสั้น เช่น ระเบิด ปืน พลุ หรือแม้เสียงที่ตะโกนใส่หูก็อาจทำให้เกิดแรงอัดอากาศกระแทกเยื่อแก้วหูทำให้แก้วหูทะลุ มีเลือดออกจากหูและหูตึงแบบถาวรได้

เราจึงควรป้องกันความเสื่อมของหูจากเสียงดังคือ หลีกเลี่ยงเสียงดังในทุกที่ เช่น โรงงานที่มีเครื่องจักรเสียงดัง หน้าลำโพงในเวทีคอนเสิร์ตฟังเพลงหรือดูทีวีที่เสียงดัง โดยเฉพาะเรื่องการใช้หูฟัง (Headphone) ในเด็กวัยรุ่น โดยเสียงที่ออกจากลำโพงที่เสียบหูจะเข้าไปในรูหูโดยตรง ถ้าอยู่ในที่มีเสียงดังให้ใช้เครื่องป้องกัน เช่น ที่อุดหู (earplug) หรือเครื่องครอบหู (ear muffed) เช่น เวลาตัดหญ้า เวลาเจาะสว่านหรือใช้เครื่องมือเครื่องจักรที่มีเสียงดัง

ที่สำคัญจะต้องตระหนักถึงอันตรายของเสียงดังอยู่เสมอ ไม่ควรอยู่กับเสียงดังตลอด ควรให้หูได้พักผ่อนบ้างเพราะเสียงเบา ๆ ที่กรอกหูอยู่นานก็มีผลร้ายต่อการได้ยินพอ ๆ กับเสียงดังเช่นกัน

หากท่านต้องไปในที่มีเสียงดังควรเตรียมตัวให้พร้อม เช่น ในกลุ่มคนที่ดูคอนเสิร์ต ในกลุ่มคนผู้ประท้วงการป้องกันเป็นสิ่งที่ดีที่สุด หากมีอาการผิดปกติทางการได้ยินควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางหูคอจมูก แพทย์สามารถให้คำแนะนำและตรวจการได้ยินและจะบอกได้ว่าประสาทหูมีความเสื่อมไปแค่ไหน และจะได้ให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพหูให้ดีและอยู่กับเราไปนาน ๆ

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ โดย นายแพทย์ถนัด ไพศาขมาศ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง: 



เข้าชม : 439


บทความสุขภาพ 5 อันดับล่าสุด

      ห่วงคนไทยเสริมสวย เครื่องมือช่วยปรับหน้า ไม่มีวิจัยชัดเจน 14 / ม.ค. / 2557
      ราชบุรีเตือนโรคมือเท้าปากในเด็ก 14 / ม.ค. / 2557
      กรมการแพทย์แนะวิธีเลือก “ขนม” สำหรับเด็ก 14 / ม.ค. / 2557
      เสียงดัง กับ สุขภาพหู 8 / ม.ค. / 2557
      หน้าหนาว เลี่ยงสถานที่แออัดเสี่ยงต่อโรค 28 / ธ.ค. / 2556


 
ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอองครักษ์
ถนนหน้าอำเภอ ตำบลองครักษ์  อำเภอองครักษ์  จังหวัดนครนายก โทรศัพท์ 0-3739-1895  โทรสาร 0-3739-1878  

ksnongkharak_ny@hotmail.com
Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.04    Webmaster